วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541



 
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
หลักการ
เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างแรงงาน การจัดสถานที่ และอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อให้ลูกจ้างมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย และได้รับค่าตอบแทนตามสมควร และนายจ้างมีแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งในรูปแบบของพระราชบัญญัติและประกาศคณะปฏิวัติ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมถึงครั้งที่  3  เพื่อให้กฎหมายทันสมัยและเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง
ลักษณะของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
  • 1. เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางปฏิบัติของลูกจ้างนายจ้าง
  • 2. เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา หากไม่ปฏิบัติตาม
  • 3. พนักงานตรวจแรงงานอาจดำเนินคดีทางอาญาต่อนายจ้างได้ แม้ไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ
  • 4. เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
 
แนวคิดในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
  • 1. มีทั้งข้อห้ามและข้อปฏิบัติ ที่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติตาม
  • 2. นายจ้างและลูกจ้างไม่ควรตกลงทำสัญญากัน โดยกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์หรือได้รับการคุ้มครองน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติ
  • 3. นายจ้างไม่อาจที่จะกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบใดๆ ในทางรอนสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง หรือทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนจะบังคับไม่ได้
  • 4. นายจ้างที่กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบ ที่เป็นคุณหรือผลดีแก่ลูกจ้างมากกว่าที่กฎหมายกำหนดย่อมใช้บังคับได้ และมีผลบังคับตลอดไป จะกลับมาอ้างและปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้
  • 5. การปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าสิทธิแรงงาน ซึ่งมีประโยชนืต่อการค้าระหว่างประเทศ
 
การตีความกฎหมาย (มาตรา 4)
การตีความกฎหมายคุ้มครองแรงงานในส่วนที่บัญญัติกำหนดความผิดและโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัดเช่นเดียวกับกฎหมายอาญา ส่วนการตีความในกรณีที่มีปัญหาหรือมีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่จะให้การคุ้มครองลูกจ้างและสร้างบรรทักฐานที่ดีแก่สังคมแรงงาน
 
ขอบเขตการบังคับใช้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในการจ้างงานทุกประเภทกิจการ ไม่ว่าจะมีจำนวนลูกจ้างเท่าใด ยกเว้นแต่กิจการหรือนายจ้างใน 2 ประเภท คือ
  • 1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น
  • 2. รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  • 3. นายจ้างตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ที่จำกัดมิให้นำบทบัญญัติใน พรบ. คุ้มครองแรงงานมาบังคับใช้แก่ โรงเรียนเอกชน และให้นำบทบัญญัติใน พรบ. คุ้มครองแรงงานเพียงบางมาตรามาบังคับใช้กับ งานเกษตรกรรมงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างตลอดปีและมิได้ให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่เป็นงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานดังกล่าว งานที่รับไปทำที่บ้าน งานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย งานที่ไม่แสวงหากำไร
 
ความหมาย คำนิยาม
นายจ้าง  หมายความว่า  ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้  และหมายความรวมถึง 
        1.ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
                    2.ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล ให้ทำการแทนด้วย
        3.ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบให้บุคคลหนึ่ง บุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่ง ก็ดีมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงาน อันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบ ของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย
   หมายความว่า  ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร  เช่นอาจเรียกว่าลูกจ้างชั่วคราว  ลูกจ้างประจำ  ลูกจ้างทดลองงาน  ลูกจ้างซึ่งกำหนดเวลาจ้างไว้ไม่แน่นอน  ลูกจ้างที่ทำงานไม่เต็มเวลา (part time)
ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม (มาตรา 9)
ดอกเบี้ย  หมายถึงเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละ  15  ต่อปี
เงินเพิ่ม  หมายถึง  เงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืน  หรือไม่จ่ายเงินที่เป็นสิทธิของลูกจ้าง   เมื่อพ้นกำหนด 7 วันในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน
เงินที่นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มดังกล่าว  ได้แก่เงินดังต่อไปนี้
  • 1. เงินประกันที่ต้องคืนแก่ลูกจ้าง
  • 2. ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าลาวงเวลาในวันหยุด
  • 3. ค่าชดเชย
  • 4. ค่าชดเชยพิเศษ
ส่วนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในกรณีอื่น ๆ ลูกจ้างจะเรียกดอกเบี้ยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เพียงร้อยละเจ็ดต่อปี
เงินประกันการทำงาน (มาตรา  10)
ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน  หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง  เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างทำนั้นต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง 
ในกรณีที่นายจ้างเรียก  หรือรับเงินประกัน  หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ  เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออก  ให้คืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวัน
หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันมีดังนี้
1. ให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานจากลูกจ้างได้ไม่เกิน  60  เท่าของค่าจ้างรายวัน
2. งานที่นายจ้างมีสิทธิเรียกเงินประกัน  ได้แก่งานต่อไปนี้
        2.1งานสมุห์บัญชี
2.2 งานเก็บหรือจ่ายเงิน
2.3 งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง
2.4 งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
2.5 งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
2.6 งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้เช่าทรัพย์  ให้เช่าซื้อ  ให้กู้ยืม  รับฝากทรัพย์  รับจำนอง  รับจำนำ  เก็บของในคลังสินค้า  รับประกันภัย  รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร  ทั้งนี้เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น
หน้าที่ของนายจ้าง
นายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างดังต่อไปนี้
1. การออกใบสำคัญแสดงการทำงาน  ให้แก่ลูกจ้างว่าได้ทำงานนั้นมานานเท่าใดและงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร (มาตรา  14 ให้นำเอา บทบัญญัติตาม ป.แพ่ง มาใช้โดยอนุโลม)
2. การจ่ายค่าเดินทางขากลับ  ให้แก่ลูกจ้างที่เอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกค่าเดินทางขามาให้และเมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลง (มาตรา  14 ให้นำเอา บทบัญญัติตาม ป.แพ่ง มาใช้โดยอนุโลม)
3. การปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและลูกก้างหญิงต้องเท่าเทียมกันเว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติให้เท่าเทียมกันได้  (มาตรา 15)
กรณีที่งานมีลักษณะคุณภาพที่เท่าเทียมกัน  จะต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน  ได้แก่  ค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด  ตลอดจนระเบียบ  และคำสั่ง (มาตรา 53 )
การล่วงเกินทางเพศ (มาตรา 16 )
ห้ามนายจ้างหรือผู้เป็นหัวหน้างาน  ผู้ควบคุมงาน   ผู้ตรวจงาน  กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อลูกจ้างที่เป็นหญิงหรือเด็ก
การล่วงทางเพศ  หมายถึง  การกระทำใด ๆ ที่ไม่สมควรอันเป็นการล่วงจารีตประเพณีหรือจรรยามารยาทเพื่อให้บุคคลหนึ่งได้รับสัมผัสทางกาย  หรือได้รับการสื่อสารในเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์
การเลิกสัญญาจ้าง  (มาตรา 17)
ทั้งนายจ้างและลูกจ้างให้ปฏิบัติตามนี้ 1. ถ้าสัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน  ลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องบอกเลิกจ้าง  สัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงตามกำหนดในสัญญาหากบอกเลิกจ้างก่อนกำหนดโดยไม่มีเงื่อนไขที่ชอบ  ถือว่าผิดสัญญาจ้าง
2. ถ้าสัญญาจ้างไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่จ้างไว้  การเลิกจ้างต้องบอกล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อน  หรือในวันกำหนดจ่ายค่าจ้างหนึ่งคราวก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งสุดท้ายที่จะเลิกจ้างแต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน
3. ถ้านายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง  ต้องบอกเลิกจ้างตามข้อ  2. แต่  นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้
4. ถ้านายจ้างบอกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด  หากลูกจ้างมิได้กระทำความผิด
การนับระยะเวลาการทำงาน
การนับระยะเวลาการทำงานกำหนดให้นับดังนี้
1. ให้นับวันหยุด  วันลา  วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดรวมด้วยเป็นระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง (มาตรา  19)
2. ให้นับระยะเวลาทุกช่วงของการทำงานเข้าด้วยกัน  ดังนั้นสัญญาที่นายจ้างทำหลายฉบับเป็นระยะ ๆ ต้องนับระยะเวลารวมกัน (มาตรา 20)
เวลาทำงานปกติ (มาตรา 23)
การกำหนดเวลาทำงานปกติให้กำหนดดังนี้
1. วันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง  สัปดาห์ หนึ่งไม่เกิน  48  ชั่วโมง 
2.งานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  วันหนึ่งไม่เกิน  7  ชั่วโมงสัปดาห์ละไม่เกิน  42  ชั่วโมง  เช่น  งานที่ต้องทำใต้ดิน  งานเกี่ยวกับกัมมันตรังสี  งานเชื่อมโลหะ  งานขนส่งวัตถุอันตราย  งานผลิตสารเคมีอันตราย  เป็นต้น
การทำงานล่วงเวลา(มาตรา  24, 26, 31)
การทำงานล่วงเวลา  หมายความว่า  การทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงการทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานปกติในแต่ละวันที่ตกลงกันไว้
1. ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป  ในกรณีที่ลักษณะงานต้องทำติดต่อกันถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินหรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาและชั่วโมงทำงานในวันหยุด  เมื่อรวมกันแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน  36  ชั่วโมง
3. ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดในงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย  เว้นแต่ลักษณะของงานที่ต้องทำติดต่อกันไป  ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน
การทำงานในวันหยุด
วันหยุด หมายความว่า  วันที่ให้ลูกจ้างหยุดไม่ต้องทำงาน  เช่น  วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี  วันหยุดพักผ่อนประจำปี  เป็นต้น
เงื่อนไขการทำงานในวันหยุด 
1. ห้ามมิให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด  เว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป  ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น
2. นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการโรงแรม  สถานมหรสพ  งานขนส่ง  ร้านขายอาหาร  สมาคม  สถานพยาบาล
3. เพื่อประโยชน์แก่การผลิต  การจำหน่าย  และการบริการ  นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานนอกจากที่กำหนดในข้อ  1  และ  2  ในวันหยุดเท่าที่จำเป็น
วันหยุดของลูกจ้าง
วันหยุดประจำสัปดาห์ (มาตรา 28 )
1. นายจ้างต้องประกาศให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์สำหรับลูกจ้าง สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า  1  วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน  6  วัน(มาตรา  28 )
2. ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในโรงแรม  งานขนส่ง  ฯ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้า  สะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา  4  สัปดาห์ติดต่อกัน
วันหยุดตามประเพณี (มาตรา 29)
1. นายจ้างจะต้องกำหนดและประกาศให้มีวันหยุดตามประเพณี  เช่นวันขึ้นปีใหม่  วันสงกรานต์  วันกรรมกร  วันเข้าพรรษา  รวมแล้วปีหนึ่งไม่น้อยกว่า  13  วัน
2. ให้นายจ้างพิจารณาวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี  วันหยุดทางศาสนา  หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
3. กรณีวันหยุดตามประเพณีใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง  ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณี ในวันทำงานถัดไป
4.กรณีนายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่ไม่อาจจะหยุดได้ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
วันหยุดพักผ่อนประจำปี (มาตรา  30)
1. หากลูกจ้างทำงานมาครบ  1  ปี  ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี  หรือหยุดพักร้อน  ไม่น้อยกว่า  6  วัน 
2. ในปีที่สองนายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้มากกว่า  6  วันก็ได้
3. กรณีลูกจ้างไม่มีความผิด  ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
4. ในปีที่เลิกจ้าง  หากนายจ้างยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี  ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ
วันลาหยุด (มาตรา 32-41)
วันลา  หมายความว่า  วันที่ลูกจ้างลาป่วย  ลาเพื่อทำหมัน  ลาเพื่อกิจธุระจำเป็น  ลาเพื่อรับราชการทหาร  ลาเพื่อการฝึกอบรม  หรือลาเพื่อคลอดบุตร
วันลาป่วย
ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง  การลาป่วยตั้งแต่  3  วันขึ้นไป  นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ด้วยก็ได้  โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันลาป่วยปีหนึ่งไม่เกิน  30  วัน (มาตรา 57)
วันลาเพื่อทำหมัน
ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้  รวมทั้งวันลาเนื่องจากการทำหมันตามที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้น 1 กำหนดและออกใบรับรอง
วันลาเพื่อกิจธุระจำเป็น
นายจ้างจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการลาเพื่อกิจธุระ  อย่างไรก็ได้  การจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นจะกำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงาน
วันลาเพื่อรับราชการทหาร
การลาเพื่อเข้ารับราชการทหาร  นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ในวันลาดังกล่าวปีละไม่เกิน  60  วัน (มาตรา  58)
วันลาเพื่อการฝึกอบรม
ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ  ทั้งนี้โดยแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  7  วัน นายจ้างอาจไม่อนุญาตก็ได้ถ้าในปีนั้นลามาแล้ว  3  ครั้งหรือเกินกว่า  30  วัน  หรือการลานั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจของนายจ้าง
วันลาเพื่อคลอดบุตร
ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน  90  วัน(โดยให้นับวันหยุดในระหว่างวันลาด้วย  โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาคลอดบุตร แต่ไม่เกิน  45  วัน (มาตรา 59)
การใช้แรงงานหญิง (มาตรา38-43)
1.  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างหญิงทำงานดังต่อไปนี้
        - งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน  ใต้น้ำ  ในถ้ำ  ในอุโมงค์  หรือปล่องภูเขา  เว้นแต่ลักษณะของงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายลูกจ้างนั้น
        - งานที่ทำบนนั่งร้านสูงจากพื้นดินเกินกว่า  10  เมตร
        - งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ
        - งานที่กฎหมายกำหนดห้าม
2. ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างหญิงทำงานระหว่าง 24.00 - 06.00 น.พนักงานตรวจแรงานเห็นว่าอาจเป็นอันตราย  อาจรายงานอธิบดีให้มีคำสั่งเปลี่ยนเวลาทำงานก็ได้
3. ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างที่เป็นหญิงมีครรภ์ทำงานต่อไปนี้
        - ระหว่างเวลา 24.00 - 06.00 น.
        - ทำงานล่วงเวลา
        - ทำงานในวันหยุด
        - ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
  • งานเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
  • งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
  • งานยก แบก หาม ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม
  • งานที่ทำในเรือ
4.  ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้  ให้ลูกจ้างมีสิทธิขอเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวให้นายจ้างพิจารณางานที่เหมาะสมให้
5.   ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์
การใช้แรงงานเด็ก (มาตรา  44 -52 )
เด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานหมายถึงผู้ที่มีอายุไม่ถึง  18  ปี  บริบูรณ์
1. ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า  15  ปี  เป็นลูกจ้าง ดังนั้นลูกจ้างเด็กคือบุคคลอายุ  15 - 18  ปี
2.หน้าที่ของนายจ้างที่จ้างเด็กอายุ  15 - 18  ปี  เข้าทำงาน  มีดังนี้
  • § แจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานนับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน
  • § จัดทำบันทึกสภาพการจ้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจในวันเวลาทำการ
  • § แจ้งการสิ้นสุดการจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เด็กออกจากงาน
3. จัดให้ลูกจ้างเด็กมีเวลาพักผ่อนวันหนึ่งไม่น้อยกว่า  1  ชั่วโมงหลังจากลูกจ้างเด็กทำงานแล้วไม่เกิน  4  ชั่วโมง
4. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กทำงานระหว่างเวลา  22.00 - 06.00 น.เว้นแต่เด็กนั้นเป็นผู้แสดงภาพยนตร์  ละคร
5.ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กทำงานล่วงเวลา
6. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กทำงานที่มีลักษณะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก  ซึ่งมีทั้งหมด  13  ประเภท  เช่นงานปั๊มโลหะ  งานทำความสะอาดเครื่องยนต์
7. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กทำงานในสถานที่บางประเภท  เช่น  โรงฆ่าสัตว์  สถานีขนส่ง  เป็นต้น
8. กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเด็กโดยตรงและห้ามเรียกเงินประกันจากลูกจ้างเด็ก
ค่าตอบแทนในการทำงาน
ค่าตอบแทนในการทำงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  มี  4  ประเภท  คือ  ค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด  และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
ค่าจ้าง (มาตรา 5)
ค่าจ้าง  หมายความว่า  เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง  รายวัน  รายสัปดาห์  หรือระยะเวลาอื่น  หรือจ่ายให้โดยคำนวนตามผลงานที่ลูกจ้างได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ  สรุปได้ดังนี้
1.ค่าจ้างต้องจ่ายเป็นเงิน
2. นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างกำหนดจำนวนเงินที่เป็นค่าจ้าง
3. เงินจำนวนนั้นจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงาน
4. ค่าจ้างจะจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาปกติ
วิธีคำนวณค่าจ้างมี 2 วิธี
1. ถือระยะเวลาเป็นสำคัญ  เช่น  รายชั่วโมง  รายวัน  รายเดือน 
2. ถือผลงานที่ลูกจ้างทำเป็นสำคัญ
ค่าล่วงเวลา
ค่าล่วงเวลา  หมายความว่า  เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน  ซึ่งทำมากกว่าเวลาทำงานตามปกติ
ค่าทำงานในวันหยุด
ค่าทำงานในวันหยุด  หมายความว่า  เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนในการทำงานในวันหยด
ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
ค่าล่วงเวลาในวันหยุด  หมายความว่า  เงินที่นายจ้างให้ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงาน (มาตรา 54-64)
1. ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินไทย เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างให้จ่ายเป็นตั๋วเงินหรือเงินตราต่างประเทศ (มาตรา 54)
2.ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนให้ลูกจ้าง ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง (มาตรา 55)
3.ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำกรับวันหยุดเท่ากับค่าจ้างวันทำงาน เช่นวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี  วันหยุดพักผ่อนประจำปี
4. ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย  ปีหนึ่งไม่เกิน  30  วันลาเพื่อรับราชการทหาร  ปีหนึ่งไม่เกิด  60  วัน  และลาคลอดบุตรไม่เกิน  45  วัน  เท่ากับค่าจ้างรายวันทำงาน (มาตรา 56)
5. กรณีลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามผลงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันหยุดหรือวันลาเท่ากับค่าจ้างโดยเฉลี่ยในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับ (มาตรา 60)
6. การจ่ายค่าจ้างวันลารับราชการทหารให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหาร  ให้จ่ายเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา  แต่ปีหนึ่งไม่เกิน  60  วัน (มาตรา 58)
7. การจ่ายค่าล่วงเวลา  ให้นายจ้างในอัตราจ่ายไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำล่วงเวลาในกรณีอัตราค่าจ้างเป็นหน่วยงานต้องจ่ายค่าล่วงเวลาหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราต่อหน่วยตามจำนวนผลงานที่ทำ
8.การจ่ายค่าทำงานในวันหยุด  ให้นายจ้างจ่ายดังนี้
  • § สำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดจ่ายเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้าง
  • § สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดให้จ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราค่าจ้าง
9. การจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุด (มาตรา 63)
ให้นายจ้างจ่ายไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงตามจำนวนที่ทำ
10. การจ่ายเงินเพื่อทดแทนกรณีที่นายจ้างไม่ได้จัดวันหยุดให้ (มาตรา 64)
ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราในข้อ 8 และข้อ เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
กรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา (มาตรา 65-66)
1.ลูกจ้างที่มีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่งเวลา แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (2) - (8) เช่น งานเกี่ยวกับขบวนรถไฟ งานเปิดปิดประตูน้ำ งานอ่านระดับน้ำ งานดับเพลิง งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องไปทำนอกสถานที่และไม่อาจกำหนดเวลาได้ งานอยู่เวรเฝ้าดูแลทรัพย์สิน  เป็นต้น งานจำพวกนี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
การคำนวณค่าจ้างต่อชั่วโมง (มาตรา68)
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด  และค่าล่วงเวลาในวันหยุดในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน  อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหมายถึง  ค่าจ้างรายเดือนหารด้วย  30  วัน  กับจำนวนชั่วโมงทำงานในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย
การกำหนดเวลาจ่ายค่าตอบแทน(มาตรา70)
ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด  ตามกำหนดเวลาดังนี้
1.ในกรณีค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน  หรือรายชั่วโมง หรือรายระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกิน 1 เดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ๆ ให้จ่ายค่าจ้างเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า  1 ครั้ง
2.ในกรณีคำนวณค่าจ้างนอกจากข้อ 1 ให้จ่ายตามเวลาที่ได้ตกลงกัน
3. ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด  ให้จ่ายค่าจ้างเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า  1 ครั้ง
4.ในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง  ให้จ่ายตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับให้แก่ลูกจ้างภายใน  3  วันนับแต่วันเลิกจ้าง
การจ่ายเงินในกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการ (มาตรา  75 )
ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว  โดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัยให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ  75  ของค่าจ้างวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ  ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน
เหตุสุดวิสัย  หมายความว่า  เหตุใด ๆ ที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติซึ่งเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้จะได้ระมัดระวังตามสมควรแล้ว
การหักค่าตอบแทนในการทำงาน (มาตรา76)
ห้ามนายจ้างหักค่าตอบแทนในการทำงาน แต่มีข้อยกเว้น  5  ประการ ดังนี้
       1.  หักเพื่อชำระภาษีเงินได้
               2. หักเพื่อชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงาน
               3.  หักเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์และหนี้เพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว
               4.  หักเพื่อเงินประกันหรือเพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง
                5.  หักเพื่อเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนเงินสะสม
คณะกรรมการค่าจ้าง (มาตรา  78-91)
คณะกรรมการค่าจ้างเป็นองค์กรไตรภาคี  ประกอบด้วยกรรมการ  3  ฝ่าย  ฝ่ายละ  5  คน  คือฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายนายจ้าง  และฝ่ายลูกจ้าง  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่หลายอย่าง  เช่นการกำหนดอัตราค่าจ้าวขั้นต่ำพื้นฐาน  เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดมี  3  ประเภท  คือ
1.  ค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน  เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดสำหรับประเทศไทยในทุกท้องที่
2.  อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
3.  อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะประเภทกิจการ  ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทอุตสาหกรรม
การประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ
1.  ประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้าง  ไม่ว่านายจ้างและลูกจ้างจะมีเชื้อชาติใด  ศาสนาใด  หรือเพศใด (มาตรา 89)
2.  เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับแล้วห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (มาตรา 90)
3.  ให้นายจ้างที่อยู่ในข่ายบังคับของประกาศกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำปิดประกาศดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบ    สถานที่ทำงานของลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ(มาตรา 90 วรรค 2)
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวบังคับใช้แก่นายจ้างทุกประเภทกิจการที่อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานนี้
สวัสดิการ (มาตรา  92-99)
กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน  ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี  ประกอบด้วยกรรมการ  3  ฝ่ายฝ่าย  ฝ่ายละ  5  คน  คือฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายนายจ้าง  และฝ่ายลูกจ้าง  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่สำคัญคือ เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการออกกฎกระทรวง  ประกาศหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการในสถานประกอบการ(มาตรา  93)
ปัจจุบันยังไม่มีกฏฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการที่นายจ้างต้องปฏิบัติ  ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือประกาศกระทรวงแรงงาน  ซึ่งออกตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  103 
ความปลอดภัย (มาตรา 100-107)
กฎหมายกำหนดให้มี  คณะกรรมการความปลอดภัย  อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี  ประกอบด้วยกรรมการ  3  ฝ่ายฝ่าย  ฝ่ายละ  5  คน  คือฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายนายจ้าง  และฝ่ายลูกจ้าง  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่สำคัญคือ เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการออกกฎกระทรวงประกาศหรือระเบียบ
การจัดทำเอกสารการจ้าง
เอกสารการจ้าง  กฎหมายกำหนดให้ทำ  3  ประเภท  ดังนี้
1.  ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  ซึ่งเป็นเอกสารที่นายจ้างเป็นผู้ทำขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิ  หน้าที่  และแนวทางปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมาย  นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่  10  คนขึ้นไป  ต้องทำข้อบังคับเกี่ยวแก่การทำงานและประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
2.  ทะเบียนลูกจ้าง  กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่  10  คนขึ้นไปต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างเป็นภาษาไทยเก็บไว้ในสถานที่ประกอบกิจการในสำนักงานของนายจ้างพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานในเวลาทำการตรวจและเก็บไว้ไม่น้อยกว่า  2  ปี
3.  เอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง  นายจ้างต้องจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด  ซึ่งต้องมีรายการต่อไปนี้
วันและเวลาทำงาน  ผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย 
เมื่อมีการจ่ายค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน
กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างโดยการโอนเข้าบัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น  หลักฐานทางการเงินเช่นว่านั้น  ถือเป็นเอกสารการจ่ายเงินดังกล่าวข้างต้น
การพักงาน
นายจ้างจะสั่งพักงานได้ต่อเมื่อกรณีดังกล่าวต่อไปนี้
1.  ลูกจ้างได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
2.  นายจ้างประสงค์จะทำการสอบสวนลูกจ้างและพักงานลูกจ้างนั้น
3.  มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  ซึ่งระบุว่านายจ้างมีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างได้
4.  นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงานนั้นแล้ว
เงื่อนไขในการให้พักงาน
1.  นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ให้ลูกจ้างพักงานเต็มจำนวน  หรือตามที่ตกลงกันไว้
2.  ถ้าปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิดนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างพักงานโดยหักส่วนที่จ่ายไปแล้ว  เหลือเท่าใดต้องจ่ายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
การจ่ายค่าชดเชย
ค่าชดเชย  หมายถึง  เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
การเลิกจ้าง หมายถึง  การกระทำใด ๆ ที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานอีกต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง  หรือเหตุอื่นใดปละหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อออกจากงานตามระเบียบของนายจ้างนั้น  ไม่ถือว่าเป็นเงินค่าชดเชย  เช่น  เงินบำเหน็จ  เงินบำนาญ  เงินกองทุนเลี้ยงชีพ  เงินสะสม  เป็นต้น
ประเภทของค่าชดเชย
1. ค่าชดเชยกรณีปกติ เมื่อมีเหตุเลิกจ้างตามปกติทั่วไปตามกฏหมายและไม่เข้าข้อยกเว้นของการจ่ายค่าชดเชย  ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามปกติ
2.  ค่าชดเชยกรณีพิเศษ  มี  3  กรณี  คือ
2.1   ค่าชดเชยพิเศษกรณีย้ายสถานประกอบการ
  นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนย้ายถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างพึงได้รับตามอัตราค่าชดเชยปกติตามม.118นายจ้างอาจจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้ (ม. 120) 
 
        2.2  ค่าชดเชยพิเศษกรณีนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่มาใช้
  ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงานกระบวนผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้างเหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างให้ลูกจ้าง และพนักงาน ตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
  • - หากไม่แจ้งล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นอกจากนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยปกติตามมาตรา 118 แล้วนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วันหรือเท่ากับค่าจ้าง ของการทำงาน 60 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ เป็นหน่วย (มาตรา 121)
  • - ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไปนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุด ท้ายต่อการทำงานครบ 1 ปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยพิเศษนี้ รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้าย สำหรับ ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย โดยระยะเวลาทำงานที่มากกว่าหนึ่ง 180 วันให้นับเป็น การทำงานครบ 1 ปี
 
จำนวนเงินค่าชดเชย
                                                 ค่าชดเชยกรณีปกติ (มาตรา 118)
             อายุการทำงานติดต่อกัน
                 อัตราจ่ายค่าชดเชย
  ทำงาน 120 วัน - ไม่ครบ  1  ปี
                                  30 วัน
  ทำงาน 1 ปี - ไม่ครบ  3  ปี
                           90 วัน
  ทำงาน 3 ปี - ไม่ครบ ปี
                           180 วัน
  ทำงาน 6 ปี - ไม่ครบ 10  ปี
                            240 วัน
 10  ปีขึ้นไป
                            300 วันขึ้นไป
 
พฤติการณ์ที่ถือเป็นการเลิกจ้าง (มาตรา 118)
มาตรา  118  กำหนดไว้  2  กรณี  ดังนี้
1. การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเพราะเหตุอื่นใด
2.  กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้ค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (มาตรา  118 - 119)
1. นายจ้างไม่ต้องจ่ายในกรณีเลิกจ้าง  2  กรณี
  • § ลูกจ้างทำงานไม่ครบ 120 วัน
  • § ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างในงานที่ไม่ใช่ปกติของธุรกิจการค้าของนายจ้าง ในงานโครงการที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน งานมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งงานตามประเภทที่กล่าวมาต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
2.  นายจ้างไม่ต้องจ่ายในกรณีลูกจ้างทำผิด (มาตรา 119)  ดังนี้
2.1 ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  • § ทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึงแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตัวลูกจ้างเองหรือบุคคลอื่น ทั้งนี้โดยที่ลูกจ้างอาศัยโอกาสที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ ประโยชน์ที่ได้รับต้องเป็นทรัพย์สิน หรือทำให้นายจ้างเสียหาย
  • § กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หมายถึง ลูกจ้างกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยตั้งใจจะกระทำต่อนายจ้างหรือบุคคลที่ถือว่าเป็นนายจ้างหรือต่อกิจการของนายจ้าง ไม่ว่าจะทำในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนก็ตาม
2.2 จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • § จงใจ หมายถึง เจตนาประสงค์ต่อผล
  • § จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่ลูกจ้างประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตามและนายจ้างจะได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด
2.3 ประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • § ประมาท หมายความว่า ทำงานปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความระมัดระวังตามวิสัยจองปกติชน หรือตามปกติวิสัยของการประกอบอาชีพเช่นนั้น
  • § เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หมายความว่าเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
2.4 ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  หรือ  ระเบียบ  คำสั่ง  ของนายจ้าง
ซึ่งนายจ้างได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว  เว้นแต่กรณีที่นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน  การฝ่าฝืนมี  2  กรณี  คือ
        1. กรณีร้ายแรง  คือทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่นายจ้าง  นายจ้างเลิกจ้างได้ในการกรทำความผิดครั้งแรกของลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
        2.กรณีไม่ร้ายแรง  นายจ้างต้องตักเตือนลูกจ้างก่อน  ถ้าลูกจ้างกระทำผิดในเรื่องเดียวกันซ้ำอีกภายใน  1  ปีนับจากลูกจ้างกระทำผิดครั้งแรก  นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้าง
2.5 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา  3  วันทำงานติดต่อกัน  ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่
ลูกจ้างสามารถไปทำงานตามปกติได้แต่ไม่ไปทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  และไม่ไปทำงาน  3  วันติดต่อกัน
  • ได้รับโทษจำคุก
กรณีนี้ต้องได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตำคุก  เว้นแต่เป็นโทษที่ได้กระทำโดยประมาท
การยื่นคำร้องกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน(มาตรา 123-125)
1.ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในท้องที่
2. กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตาย  ทายาทโดยชอบธรรมมีสิทธิยื่นคำร้องหรือขอดำเนินการต่อกรณีที่ได้ยื่นคำร้องไว้แล้ว
3. พนักงานตรวจแรงงานต้องสอบสวนและมีคำสั่งภายใน  60  วัน (อาจขอขยายเวลาออกไปได้อีก 30  วัน)
4. แจ้งให้ลูกจ้างหรือนายจ้างทราบ  ถ้าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมาย  นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างภายใน  15  วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
5. ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานก็มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน (ฟ้องศาล)  ภายใน  30 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง  ถ้าไม่นำคดีขึ้นสู่ศาลภายในกำหนด  ถือว่าคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด  จะนำมาฟ้องร้องอีกไม่ได้
ถ้านายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีขึ้นสู่ศาล  นายจ้างต้องวางเงินจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการฟ้องคดีเพื่อประวิงการจ่ายเงินตามกฎหมาย
อายุความฟ้องคดีแรงงาน
เนื่องจากตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  ไม่ได้กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้เป็นอย่างอื่น  อายุความของสิทธิเรียกร้องจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
สิทธิเรียกร้อง
อายุความ(ปี)
ค่าจ้าง
2
ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี
2
ค่าล่วงเวลา
2
ค่าทำงานในวันหยุด
2
ค่าชดเชย
10
ค่าชดเชยพิเศษ
10
ดอกเบี้ย
5
เงินเพิ่ม
5
 
อำนาจของพนักงานตรวจแรงงาน (มาตรา  139)
พนักงานตรวจแรงงานเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น  มีอำนาจตรวจตรา  ดูแล  สั่งการ  เพื่อให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจหน้าที่  ดังนี้
1. เข้าไปในสถานประกอบการของนายจ้างและสถานที่ทำงานของลูกจ้างเพื่อตรวจสภาพการทำงานและสภาพการจ้าง
2. มีหนังสือสอบถามและเรียกนายจ้าง  ลูกจ้าง  หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง  หรือให้ส่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
3. มีคำสั่งเป็นหนังสือให้นายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541
บทกำหนดโทษ (มาตรา  144-159)
กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดโทษไว้  9  ระดับ โดยโทษต่ำที่สุด คือมีโทษปรับไม่เกิน  5,000  บาทและโทษสูงที่สุด  มีโทษจำคุกไม่เกิน  1  ปี  ปรับไม่เกิน  200,000  บาท
นอกจากกฎหมายจะเอาโทษต่อนายจ้างหรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับความผิดแล้ว  ยังให้เอาผิดกับกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลด้วย
การเปรียบเทียบปรับ
ถ้าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ(อธิบดีกรมสวัสดิการ ฯ และผู้ว่าราชการจังหวัด)  เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรถูกลงโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้องต่อศาล  เจ้าพนักงานดังกล่าวอาจกำหนดค่าปรับและให้นำค่าปรับมาชำระภายในกำหนดเวลา  คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น