วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกัน


ระเบียบกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๓
------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๓๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑    ระเบียบนี้เรียกว่าระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๓
ข้อ ๒[1][1]        ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓    ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ คำสั่งหรือแนวปฏิบัติอื่นใดซึ่งมีกำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔     ในระเบียบนี้
ผู้อำนวยการ หมายความว่า ผู้อำนวยการกลาง ผู้อำนวยการจังหวัด ผู้อำนวยการอำเภอ ผู้อำนวยการท้องถิ่น และผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร
เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หมายถึง เจ้าพนักงานที่ผู้อำนวยการแต่งตั้ง ตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐
ข้อ ๕    ให้ผู้อำนวยการมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือสารวัตรกำนัน
(๒) เป็นผู้ที่ปฏิบัติงาน หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนด หรือหลักสูตรอื่นที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้การรับรอง
(๓) เป็นผู้มีสุขภาพดี และร่างกายแข็งแรง เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ในกรณีที่ไม่มีบุคคลตาม (๑) หรือมีแต่ไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติตาม (๒) และ (๓) ให้เป็นเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ข้อ ๖    การเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสิ้นสุดลงเมื่อ
() ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๕
() ผู้อำนวยการมีคำสั่งให้พ้นจากหน้าที่
ข้อ ๗    เมื่อเกิดสาธารณภัยในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ผู้อำนวยการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีหน้าที่เข้าดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแจ้งให้ผู้อำนวยการอำเภอที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้นและผู้อำนวยการจังหวัดทราบทันที เพื่อดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ข้อ ๘    เมื่อเกิดสาธารณภัยในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครมีหน้าที่เข้าดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแจ้งให้ผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครและ รองผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครทราบทันที เพื่อดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ข้อ    การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่งเครื่องแบบ ประดับเครื่องหมายและแสดงบัตรประจำตัวทุกครั้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ข้อ ๑๐ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ปฏิบัติ ดังนี้
(๑)    กรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผู้ประสบเหตุมีอำนาจดำเนินการใด ๆ เพื่อคุ้มครองชีวิตหรือป้องกันภยันตรายที่จะเกิดแก่บุคคลตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์ที่จำเป็นในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผู้นั้นอาจเรียกอาสาสมัคร หรือร้องขอพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในพื้นที่ช่วยเหลือในการดำเนินการดังกล่าวด้วยก็ได้
(๒)    เมื่อเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีความจำเป็นต้องเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัย เพื่อทำการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ดำเนินการ ดังนี้
(๒.๑) แสดงเจตนาในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือสถานที่ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตจึงเข้าไปได้ เว้นแต่
                                    (ก)    กรณีไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่อยู่ในเวลานั้น และปรากฏว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะลดความสูญเสียในชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอันเนื่องจากเหตุสาธารณภัยนั้น ให้เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ดังกล่าวได้
                                    (ข)    กรณีเมื่อเจ้าขงหรือผู้ครอบครองไม่อนุญาตให้เข้าไปในอาคารหรือสถานที่ แต่หากผู้อำนวยการซึ่งได้ควบคุมหรือร่วมในการปฏิบัติหน้าที่นั้น เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ดังกล่าวเพื่อทำการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและสั่งการ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปในอาคารหรือสถานที่นั้นได้
(๒.๒)   กระทำการเท่าที่จำเป็นแห่งการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อการยับยั้งแก้ไขความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยใช้ความระมัดระวัง
(๒.๓) เมื่อดำเนินการแล้ว ให้รายงานผู้อำนวยการในเขตพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยนั้นทราบโดยเร็ว
(๓)    กรณีการขนย้ายทรัพย์สินที่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสาธารณภัยได้ง่ายออกจากอาคารหรือสถานที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัย ให้เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขนย้ายไปไว้ยังสถานที่ที่ปลอดภัย เมื่อเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการแล้ว และทรัพย์สินดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายหรือสารเคมี ให้ประสานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่มีหน้าที่โดยตรงเพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อ ๑๑   การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๒๕ หรือได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ปฏิบัติ ดังนี้
(๑)      การดัดแปลง ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้าง วัสดุ หรือทรัพย์สินของบุคคลใด ที่เป็นอุปสรรคแก่การบำบัดปัดป้องภยันตรายตามคำสั่งของผู้อำนวยการ หากกระทำภายในอาคารหรือสถานที่ของบุคคลอื่นให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑๐(๒) มาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้กระทำเท่าที่จำเป็น แก่การยับยั้งหรือแก้ไขความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสาธารณภัย
(๒)      การจัดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว การปฐมพยาบาล การรักษาทรัพย์สินของผู้ประสบภัย การจัดระเบียบจราจร การปิดกั้นพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยและพื้นที่ใกล้เคียง การจัดให้มีการรักษาความสงบเรียบร้อย การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การขนย้ายทรัพย์สินในที่เกิดเหตุ การจัดให้มีเครื่องหมายอาณัติสัญญาณเพื่อกำหนดสถานที่หรือการดำเนินการข้างต้น ให้ดำเนินการโดยประสานกับพนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจในเขตพื้นที่ให้ร่วมปฏิบัติการด้วย สำหรับกรณีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ประสานกับองค์การสาธารณกุศลให้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย
(๓)    การสั่งอพยพผู้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยออกไปจากพื้นที่ เพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามคำสั่งของผู้อำนวยการ ให้ดำเนินการโดยจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มผู้ป่วยทุพพลภาพ คนพิการ คนชรา เด็ก สตรี ควรได้รับการพิจารณาให้อพยพไปก่อน และต้องคำนึงถึงการจัดให้มีสถานที่ปลอดภัยและที่อยู่อาศัยชั่วคราวแก่ผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ การจัดระเบียบพื้นที่อพยพให้เหมาะสมเป็นสัดส่วน การจัดระเบียบการจราจรในพื้นที่รองรับการอพยพด้วย รวมทั้งการนำผู้อพยพ กลับไปสู่ที่ตั้งเดิมหากสถานการณ์ภัยได้สิ้นสุดลงแล้ว
ข้อ ๑๒ ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความ วินิจฉัยปัญหา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
                                                           ชวรัตน์ ชาญวรกูล
                                                 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น