วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พระราชบัญญัติ ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘


พระราชบัญญัติ
ภาษีบำรุงท้องที่
พ.ศ. ๒๕๐๘
                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
เป็นปีที่ ๒๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแยกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ออกจากประมวลรัษฎากร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกลักษณะ ๓ ภาษีบำรุงท้องที่แห่งประมวลรัษฎากร
บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๕ เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เทศบาลใดอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อความทั่วไป
                   

มาตรา ๖ ในพระราชบัญญัตินี้
ที่ดินหมายความว่า พื้นที่ดิน และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ำด้วย
เจ้าของที่ดินหมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน
ปีหมายความว่า ปีปฏิทิน
รัฐมนตรีหมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๗ ให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ ๑ มกราคม ของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน ตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๘ เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดิน ดังต่อไปนี้
(๑) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
(๒) ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ โดยมิได้หาผลประโยชน์
(๓) ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่นหรือสาธารณะ โดยมิได้หาผลประโยชน์
(๔) ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ
(๕) ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไม่ว่าจะใช้ประกอบศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือไม่ หรือที่ศาลเจ้า โดยมิได้หาผลประโยชน์
(๖) ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
(๗) ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้าหรือการท่าเรือของรัฐหรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ
(๘) ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว
(๙) ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเจ้าของที่ดินมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น
(๑๐) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง
(๑๑) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการของสถานทูต หรือสถานกงสุล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
(๑๒) ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๘ ทวิ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ในเขตกรุงเทพมหานครให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดผู้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานสำรวจ
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการตีราคาปานกลางตามมาตรา ๑๔
(๓) กำหนดสถานที่เพื่อปฏิบัติการตามมาตรา ๑๘ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๔
(๔) กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา ๒๒ (๔)
(๕) กำหนดวิธีการและสถานที่แจ้งการประเมินตามมาตรา ๓๓
(๖) กำหนดผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรี

มาตรา ๘ ตรี ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ทั่วเขตกรุงเทพมหานคร

มาตรา ๙ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๑) ในเขตเทศบาล ให้นายกเทศมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานสำรวจ
(๒) นอกเขตเทศบาล ให้นายอำเภอท้องที่มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานสำรวจ

มาตรา ๑๐ ภาษีบำรุงท้องที่ที่เก็บจากที่ดินในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด นอกจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
ภาษีบำรุงท้องที่ที่เก็บจากที่ดินในเขตจังหวัดซึ่งอยู่นอกเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น

มาตรา ๑๐ ทวิ (ยกเลิก)

มาตรา ๑๑ ส่วนลดและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๒ การส่งคำสั่งเป็นหนังสือ หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่นให้แก่บุคคลใด ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ให้ส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการ
(๒) ให้ส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของผู้รับ หรือให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของผู้รับให้ส่งแก่ผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วซึ่งอยู่ ณ ภูมิลำเนา หรืออยู่ในบ้านหรือสถานที่ทำการของผู้นั้น
ถ้าไม่สามารถจะส่งตามวิธีดังกล่าวได้ ให้ปิดหนังสือนั้นไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของผู้นั้น หรือลงประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยสองฉบับ หรือโฆษณาด้วยวิธีอื่น
เมื่อได้ปฏิบัติการตามวิธีดังกล่าว และเวลาได้ล่วงพ้นไปไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ปฏิบัติการ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับหนังสือนั้นแล้ว

การตีราคาปานกลางของที่ดิน
                  

มาตรา ๑๓ การตีราคาปานกลางของที่ดินนั้น ให้นำเอาราคาที่ดินในหน่วยที่จะทำการตีราคา ซึ่งซื้อขายกันโดยสุจริตครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่าสามรายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีก่อนวันตีราคา มาคำนวณถัวเฉลี่ยเป็นราคาปานกลาง โดยมิให้คำนวณราคาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูกเข้าด้วย
ในกรณีที่ไม่มีการซื้อขายที่ดินตามวรรคหนึ่งในหน่วยใด ให้นำเอาราคาปานกลางที่คำนวณตามวิธีการในวรรคหนึ่งของที่ดินในหน่วยใกล้เคียงที่มีสภาพและทำเลที่ดินคล้ายคลึงกันมาเป็นราคาปานกลางของที่ดินในหน่วยนั้นได้
ถ้าไม่อาจตีราคาปานกลางตามสองวรรคก่อนได้ ให้กำหนดราคาปานกลางของที่ดินโดยถือเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงราคาตลาดของที่ดินโดยเฉลี่ยได้
การตีราคาปานกลางของที่ดินให้ตีราคาเป็นหน่วยตำบล แต่ถ้าราคาของที่ดินในตำบลใดแตกต่างกันมาก ให้พิจารณาตีราคาโดยกำหนดเขตในตำบลนั้นแยกออกเป็นหน่วยๆ เพื่อให้การตีราคาปานกลางเป็นไปโดยเที่ยงธรรม

มาตรา ๑๔ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งให้มีหน้าที่พิจารณาการตีราคาปานกลางตามมาตรา ๑๓ คณะกรรมการนั้นให้ประกอบด้วยบุคคลในท้องที่ดังต่อไปนี้
(๑) ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย ปลัดจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด นายอำเภอท้องที่ ผู้ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมายหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิสองคนซึ่งได้รับเลือกจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๒) ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ประกอบด้วย ปลัดจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด นายอำเภอท้องที่ ผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิสองคนซึ่งได้รับเลือกจากสภาท้องถิ่น

มาตรา ๑๕ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม และให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่ง ให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการพิจารณาตีราคาปานกลางของที่ดินทุกรอบระยะเวลาสี่ปี

มาตรา ๑๗ ภายหลังการตีราคาปานกลางของที่ดินตามมาตรา ๑๖ แล้วถ้ามีเหตุแสดงว่าราคาที่ดินในหน่วยใดได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร หรือเจ้าของที่ดินร้องขอ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะสั่งให้คณะกรรมการทำการพิจารณาตีราคาปานกลางของที่ดินในหน่วยนั้นเสียใหม่ก็ได้

มาตรา ๑๘ ภายในเดือนตุลาคมของปีที่จะครบรอบระยะเวลาสี่ปี ตามมาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการยื่นรายงานการตีราคาปานกลางของที่ดินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแสดงราคาปานกลางของที่ดินทุกๆ หน่วย และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศราคาปานกลางของที่ดินนั้นไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล สำนักงานสุขาภิบาล และที่ตำบลแห่งท้องที่นั้น ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการ

มาตรา ๑๙ ถ้ามีการตีราคาปานกลางของที่ดินใหม่ตามมาตรา ๑๗ ให้คณะกรรมการยื่นรายงานการตีราคาใหม่ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศราคาปานกลางของที่ดินใหม่ ภายในระยะเวลาและสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๘

มาตรา ๒๐ ถ้าเจ้าของที่ดินไม่เห็นพ้องด้วยกับราคาปานกลางของที่ดินเจ้าของที่ดินมีสิทธิอุทธรณ์การตีราคาปานกลางของที่ดินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศราคาปานกลางที่ดิน และให้นำความในหมวด ๘ อันว่าด้วยการอุทธรณ์มาใช้บังคับ.โดยอนุโลม

มาตรา ๒๑  การตีราคาปานกลางของที่ดินทุกรอบระยะเวลาสี่ปีตามมาตรา ๑๖ ให้ใช้เป็นราคาปานกลางได้ทุกปีสำหรับรอบระยะเวลาสี่ปีนั้น
ในกรณีที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดินใหม่ตามมาตรา ๑๗ ราคาปานกลางของที่ดินใหม่นั้น ให้ใช้ได้สำหรับปีที่ถัดจากปีที่มีประกาศการตีราคาปานกลางของที่ดินใหม่ จนถึงปีสุดท้ายของรอบระยะเวลาสี่ปีตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๐ ราคาปานกลางของที่ดินตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ใช้สำหรับปีที่เป็นประเด็นแห่งการอุทธรณ์เป็นต้นไป จนถึงปีสุดท้ายของรอบระยะเวลาสี่ปีตามวรรคหนึ่ง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศราคาปานกลางของที่ดินใหม่ ภายในระยะเวลาและสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๘

การลดหย่อนและการยกเว้นหรือลดภาษีบำรุงท้องที่
                  

มาตรา ๒๒ บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน และใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตน หรือประกอบกสิกรรมของตน ให้ลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าเป็นที่ดินนอกเขตเทศบาล ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินห้าไร่ แต่จะน้อยกว่าสามไร่ไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติจังหวัด หรือข้อบังคับตำบล แล้วแต่กรณี
(๒) ถ้าเป็นที่ดินในเขตเทศบาลตำบลหรือในเขตสุขาภิบาล ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งไร่ แต่จะน้อยกว่าสองร้อยตารางวาไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในเทศบัญญัติหรือข้อบังคับ
(๓) ถ้าเป็นที่ดินในเขตเมืองพัทยาและเขตเทศบาลอื่นนอกจากเขตเทศบาลตำบล ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งร้อยตารางวา แต่จะน้อยกว่าห้าสิบตารางวาไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ
(๔) ถ้าเป็นที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ลดหย่อนได้ ดังต่อไปนี้
(ก) ในท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นมาก ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งร้อยตารางวา แต่จะน้อยกว่าห้าสิบตารางวาไม่ได้
(ข) ในท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นปานกลาง ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งไร่ แต่จะน้อยกว่าหนึ่งร้อยตารางวาไม่ได้
(ค) ในท้องที่ชนบท ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินห้าไร่ แต่จะน้อยกว่าสามไร่ไม่ได้
ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
ท้องที่ใดจะเป็นท้องที่ตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างและใช้สิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นสถานการค้าหรือให้เช่า ไม่ได้รับการลดหย่อนสำหรับส่วนของที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานการค้าหรือให้เช่านั้น
ในกรณีที่บุคคลธรรมดาหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน ให้ได้รับการลดหย่อนรวมกันตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
การลดหย่อนตามเกณฑ์ในมาตรานี้ ให้ได้รับการลดหย่อนสำหรับที่ดินที่อยู่ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแต่จังหวัดเดียว

มาตรา ๒๓ ที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูก ถ้าในปีล่วงมาแล้วการเพาะปลูกในบริเวณนั้นเสียหายมากผิดปกติ หรือทำการเพาะปลูกไม่ได้ด้วยเหตุอันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจพิจารณายกเว้นหรือลดภาษีบำรุงท้องที่ให้ได้ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

มาตรา ๒๓ ทวิ ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะโดยรับประโยชน์ตอบแทน อาจได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

การยื่นแบบแสดงรายการที่ดินและการสำรวจ
                  

มาตรา ๒๔ ให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ในกรณีที่ที่ดินอยู่นอกเขตเทศบาล เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรจะกำหนดให้เจ้าพนักงานสำรวจทำการสำรวจแล้วยื่นแบบแสดงรายการที่ดินแทนเจ้าของที่ดินเป็นรายแปลงที่ทำการสำรวจก็ได้

มาตรา ๒๕ ถ้าบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตาย เป็นผู้ไม่อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องสาบสูญ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาท ผู้รับมอบอำนาจผู้ครอบครองทรัพย์สิน ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ หรือผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา ๒๔

มาตรา ๒๖ ถ้าเจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคล ให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้น มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา ๒๔

มาตรา ๒๗ ถ้าบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน ให้บุคคลเหล่านั้นมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการปฏิบัติการตามมาตรา ๒๔

มาตรา ๒๘ เพื่อประโยชน์ในการสำรวจและยื่นแบบแสดงรายการที่ดินตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานสำรวจกำหนดวันเวลาที่จะทำการสำรวจและปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่นั้น และให้เจ้าของที่ดินหรือผู้แทนมีหน้าที่ชี้เขตและแจ้งจำนวนเนื้อที่ดินตามกำหนดวันเวลานั้น และให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานสำรวจเพื่อการนั้นตามสมควร
ถ้าเจ้าของที่ดินหรือผู้แทนไม่มาชี้เขตหรือไม่ยอมแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน หรือชี้เขตหรือแจ้งจำนวนเนื้อที่ดินขาดจากจำนวนที่เป็นจริง หรือไม่ให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานสำรวจเจ้าพนักงานสำรวจมีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ เพื่อทำการสำรวจตามที่เห็นว่าถูกต้องได้

มาตรา ๒๙ แบบแสดงรายการที่ดินสำหรับที่ดินในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินของผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตั้งอยู่ หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดโดยประกาศล่วงหน้าไว้ ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

มาตรา ๓๐ แบบแสดงรายการที่ดินตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๙ ให้ยื่นภายในเดือนมกราคมของปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดินตามมาตรา ๑๖
แบบแสดงรายการที่ดินที่ยื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้ได้ทุกปีในรอบระยะเวลาสี่ปีนั้น

มาตรา ๓๑ บุคคลใดเป็นเจ้าของที่ดินขึ้นใหม่ หรือจำนวนเนื้อที่ดินเดิมของเจ้าของที่ดินผู้ใดได้เปลี่ยนแปลงไป ให้เจ้าของที่ดินนั้นยื่นแบบแสดงรายการที่ดินต่อเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๒๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เป็นเจ้าของที่ดินขึ้นใหม่ หรือนับแต่วันที่จำนวนเนื้อที่ดินได้มีการเปลี่ยนแปลง เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้เจ้าพนักงานสำรวจทำการสำรวจตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง ก็ให้เจ้าของที่ดินแจ้งต่อเจ้าพนักงานสำรวจภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกัน และให้เจ้าพนักงานสำรวจยื่นแบบแสดงรายการที่ดินต่อเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๒๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าของที่ดิน

มาตรา ๓๒ เจ้าของที่ดินผู้ใดได้เปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอันเป็นเหตุให้การลดหย่อนตามมาตรา ๒๒ เปลี่ยนแปลงไป หรือมีเหตุอย่างอื่นทำให้อัตราภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินเปลี่ยนแปลงไป ให้เจ้าของที่ดินผู้นั้นแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๒๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือนับแต่วันที่มีเหตุอย่างอื่นทำให้อัตราภาษีบำรุงท้องที่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้เจ้าพนักงานสำรวจทำการสำรวจตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง ก็ให้เจ้าของที่ดินแจ้งต่อเจ้าพนักงานสำรวจภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกัน และให้เจ้าพนักงานสำรวจแจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๒๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าของที่ดิน

การชำระภาษีบำรุงท้องที่
                  

มาตรา ๓๓ ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีแรกของการตีราคาปานกลางของที่ดินตามมาตรา ๑๖ หรือของปีที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดินใหม่ตามมาตรา ๑๗ ให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการประเมินภายในเดือนมีนาคมแรกหลังจากการตีราคาปานกลางของที่ดินตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ที่ดินอยู่ในเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลที่ไม่มีกำนัน ให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่
(๒) ในกรณีที่ที่ดินอยู่นอกเขตเทศบาลที่มีกำนัน ให้เจ้าพนักงานประเมินปิดประกาศแจ้งการประเมินไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน
การประเมินภาษีบำรุงท้องที่ที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เป็นการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับในปีต่อไปจนครบรอบระยะเวลาสี่ปีตามมาตรา ๒๑
ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่อาจคำนวณภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการประเมินภายในเดือนมีนาคม ก็ให้แจ้งการประเมินภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวได้

มาตรา ๓๔ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่นำเงินไปชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินของผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตั้งอยู่ หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดโดยประกาศล่วงหน้าไว้ ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

มาตรา ๓๔ ทวิ การชำระภาษีบำรุงท้องที่นั้น ให้ถือว่าเป็นการสมบูรณ์เมื่อได้รับใบเสร็จรับเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการนี้ได้ลงลายมือชื่อรับเงินแล้ว เว้นแต่การชำระภาษีตามวรรคสอง
การชำระภาษีบำรุงท้องที่จะชำระโดยการส่งธนาณัติ ตั๋วแลกเงินของธนาคารหรือเช็คที่ธนาคารรับรอง ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสถานที่ตามมาตรา ๓๔ ก็ได้ โดยสั่งจ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ หรือชำระโดยผ่านธนาคาร หรือโดยวิธีอื่นตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด และให้ถือว่าวันส่งทางไปรษณีย์ วันชำระผ่านธนาคาร หรือวันชำระโดยวิธีอื่นตามที่กำหนด เป็นวันชำระภาษี

มาตรา ๓๕ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี
ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๓๒ หรือภายหลังเดือนมีนาคมตามมาตรา ๓๓ วรรคสาม ให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

มาตรา ๓๖ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจประกาศขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาชำระภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๓๕ ออกไปอีกได้ตามความจำเป็นแก่กรณี

มาตรา ๓๖ ทวิ ถ้าเงินภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องชำระภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ แล้วแต่กรณี มีจำนวนตั้งแต่สามพันบาทขึ้นไป ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะขอผ่อนชำระเป็นสามงวดๆ ละเท่าๆ กันก็ได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้บุคคลตามมาตรา ๓๕ ทราบก่อนการชำระภาษีงวดที่หนึ่ง
การผ่อนชำระภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องชำระงวดที่หนึ่งตามกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ แล้วแต่กรณี งวดที่สองต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง และงวดที่สามต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง
ถ้าผู้ขอผ่อนชำระภาษีผู้ใดไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่งวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้เจ้าของที่ดินหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นงวดและให้นำความในมาตรา ๔๕ (๔) มาใช้บังคับสำหรับงวดที่ยังไม่ชำระ

มาตรา ๓๗ ถ้าภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินของเจ้าของเดียวกันในตำบลเดียวกันมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งบาท เป็นอันไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินแปลงนั้น

มาตรา ๓๘ ภาษีบำรุงท้องที่จำนวนใดที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งหรือประกาศการประเมินแล้ว ถ้ามิได้ชำระภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือเป็นภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ

มาตรา ๓๙ เมื่อกรรมสิทธิ์หรือการครอบครองของเจ้าของที่ดินได้โอนตกไปยังบุคคลอื่น ให้ผู้รับโอนมีหน้าที่ร่วมกับเจ้าของที่ดินเดิมเสียภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี รวมทั้งปีสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของที่ดินด้วย ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระเกินห้าปีคงอยู่ในความรับผิดของเจ้าของที่ดินเดิม
ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับโอนซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาในการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย หรือคำสั่งขายทอดตลาดตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๐ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระให้นายอำเภอ หรือนายกเทศมนตรี มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) มีหนังสือเรียกเจ้าของที่ดินหรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งบัญชีหรือเอกสารมาตรวจสอบ
(๒) สั่งให้เจ้าของที่ดินหรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ
ถ้าเจ้าของที่ดินหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ยอมปฏิบัติการตาม (๑) หรือ (๒) ให้นายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีมีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องแก่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระของผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการเพื่อสอบถามบุคคลใดๆ หรือตรวจสอบ ตรวจค้นบัญชี หรือเอกสาร หรือยึดอายัดบัญชี หรือเอกสาร

มาตรา ๔๑ ทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ อาจถูกยึดอายัด หรือขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ โดยให้นายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด หรือขายทอดตลาดได้ แต่คำสั่งเช่นว่านั้นจะออกได้ก็แต่โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัด
การขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ในระหว่างระยะเวลาที่ให้อุทธรณ์ได้ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๒ และตลอดเวลาที่ทำการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด
คำสั่งยึดจะกระทำได้เมื่อได้ส่งคำเตือนเป็นหนังสือให้เจ้าของที่ดินชำระภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่รับหนังสือนั้นโดยวิธีการส่งหนังสือตามมาตรา ๑๒
วิธีการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อให้ได้รับชำระภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระนั้น ให้นำวิธีการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๔๒ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้น ให้หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการยึดอายัด หรือขายทอดตลาด เหลือเท่าใดให้ชำระเป็นค่าภาษีบำรุงท้องที่ ถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีกให้คืนแก่เจ้าของที่ดิน

มาตรา ๔๓ เมื่อได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้แล้ว ถ้าได้มีการชำระเงินค่าใช้จ่ายในการยึดหรืออายัด และค่าภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระโดยครบถ้วนก่อนการขายทอดตลาด ก็ให้นายอำเภอ หรือนายกเทศมนตรีสั่งถอนคำสั่งยึดหรืออายัดนั้น

มาตรา ๔๔ ผู้ใดเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืน
การขอรับเงินคืนให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอสำหรับนอกเขตเทศบาล หรือนายกเทศมนตรีสำหรับในเขตเทศบาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เสียภาษีบำรุงท้องที่หรือนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี ในการนี้ให้ผู้ยื่นคำร้องส่งเอกสาร หลักฐาน หรือคำชี้แจงใดๆ ประกอบคำร้องด้วย
การสั่งคืนภาษีบำรุงท้องที่ให้เป็นอำนาจของนายอำเภอ หรือนายกเทศมนตรีแล้วแต่กรณี

เงินเพิ่ม
                       

มาตรา ๔๕ ให้เจ้าของที่ดินเสียเงินเพิ่มนอกจากเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้
(๑) ไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่กรณีที่เจ้าของที่ดินได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินจะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้นให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่
(๒) ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของภาษีบำรุงท้องที่ที่ประเมินเพิ่มเติม เว้นแต่กรณีที่เจ้าของที่ดินได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการที่ดินให้ถูกต้องก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน
(๓) ชี้เขตแจ้งจำนวนเนื้อที่ดินไม่ถูกต้องต่อเจ้าพนักงานสำรวจ โดยทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของภาษีบำรุงท้องที่ที่ประเมินเพิ่มเติม
(๔) ไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละยี่สิบสี่ต่อปีของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ทั้งนี้ ไม่ให้นำเงินเพิ่มเติมตาม (๑) (๒) หรือ (๓) มาคำนวณเพื่อเสียเงินเพิ่มตาม (๔) ด้วย

มาตรา ๔๖ เงินเพิ่มให้ถือว่าเป็นภาษีบำรุงท้องที่

เจ้าพนักงานประเมิน
                  

มาตรา ๔๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องแก่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการ เพื่อสอบถามบุคคลใดๆ หรือตรวจสอบ ตรวจค้นบัญชีหรือเอกสารหรือยึด อายัดบัญชี หรือเอกสารเพื่อทราบว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ได้ปฏิบัติการถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่
(๒) มีหนังสือเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งบัญชีหรือเอกสารมาตรวจสอบ

มาตรา ๔๘ เมื่อปรากฏว่าเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินตามมาตรา ๒๔ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทราบว่าเจ้าของที่ดินยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน

อุทธรณ์
                       

มาตรา ๔๙ เจ้าของที่ดินผู้ใดได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่แล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ โดยยื่นอุทธรณ์แก่เจ้าพนักงานประเมินตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้รับอุทธรณ์แล้ว ให้เสนออุทธรณ์นั้นตามลำดับจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด
การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล

มาตรา ๕๐ เพื่อการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจมีหนังสือเรียกผู้อุทธรณ์หรือบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารอันควรแก่เรื่องมาแสดง
ผู้อุทธรณ์คนใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกที่ออกตามมาตรานี้ หรือไม่ยอมให้ถ้อยคำโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยกอุทธรณ์นั้นเสีย

มาตรา ๕๑ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และเจ้าพนักงานประเมิน

มาตรา ๕๒ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยกอุทธรณ์ตามความในมาตรา ๕๐ วรรคท้าย

บทกำหนดโทษ
                       

มาตรา ๕๓ ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๔ ผู้ใดจงใจไม่มาหรือไม่ยอมชี้เขตหรือไม่ยอมแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๕ ผู้ใดขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา ๒๘ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๖ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับแก่ผู้อุทธรณ์ตามมาตรา ๕๐

มาตรา ๕๗ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้านายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีแล้วแต่กรณี เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุก ให้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับได้เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่นายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีกำหนดภายในสามสิบวัน คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้ว ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีต่อไป

มาตรา ๕๘ เงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ แล้วแต่ความผิดนั้นจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด

บทเฉพาะกาล
                       

มาตรา ๕๙ บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ยกเลิกตามมาตรา ๓ ให้คงใช้บังคับได้ในการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ จำนวนพุทธศักราชต่าง ๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี

บัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่
ตามมาตรา ๗

ชั้น
ราคาปานกลางของที่ดิน
ภาษีไร่ละ
หมายเหตุ
บาท
สต.
ไม่เกินไร่ละ     ๒๐๐ บาท
-
๕๐
(๑) ที่ดินที่ใช้ประกอบการกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเอง ให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ ๕ บาท
(๒) ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดินให้เสียเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า
เกินไร่ละ        ๒๐๐ บาท ถึงไร่ละ       ๔๐๐ บาท
-
เกินไร่ละ        ๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ       ๖๐๐ บาท
-
เกินไร่ละ        ๖๐๐ บาท ถึงไร่ละ       ๘๐๐ บาท
-
เกินไร่ละ        ๘๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
-
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๒๐๐ บาท
๕๐
เกินไร่ละ     ,๒๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๔๐๐ บาท
-
เกินไร่ละ     ,๔๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๖๐๐ บาท
-
เกินไร่ละ     ,๖๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๘๐๐ บาท
-
๑๐
เกินไร่ละ     ,๘๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๑๐
-
๑๑
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๒๐๐ บาท
๑๑
-
๑๒
เกินไร่ละ     ,๒๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๔๐๐ บาท
๑๒
-
๑๓
เกินไร่ละ     ,๔๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๖๐๐ บาท
๑๓
-
๑๔
เกินไร่ละ     ,๖๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๘๐๐ บาท
๑๔
-
๑๕
เกินไร่ละ     ,๘๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๑๕
-
๑๖
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๕๐๐ บาท
๑๗
๕๐
๑๗
เกินไร่ละ     ,๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๒๐
-
๑๘
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๕๐๐ บาท
๒๒
๕๐
๑๙
เกินไร่ละ     ,๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๒๕
-
๒๐
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๕๐๐ บาท
๒๗
๕๐
๒๑
เกินไร่ละ       ,๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๓๐
-
๒๒
เกินไร่ละ       ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๕๐๐ บาท
๓๒
๕๐
๒๓
เกินไร่ละ       ,๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๓๕
-
๒๔
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๕๐๐ บาท
๓๗
๕๐
๒๕
เกินไร่ละ     ,๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๔๐
-
๒๖
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๕๐๐ บาท
๔๒
๕๐
๒๗
เกินไร่ละ     ,๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๐๐๐ บาท
๔๕
-
๒๘
เกินไร่ละ     ,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ    ,๕๐๐ บาท
๔๗
๕๐
๒๙
เกินไร่ละ     ,๕๐๐ บาท ถึงไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๕๐
-
๓๐
เกินไร่ละ   ๑๐,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ ๑๕,๐๐๐ บาท
๕๕
-
๓๑
เกินไร่ละ   ๑๕,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ ๒๐,๐๐๐ บาท
๖๐
-

๓๒
เกินไร่ละ   ๒๐,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ ๒๕,๐๐๐ บาท
๖๕
-

๓๓
เกินไร่ละ   ๒๐,๐๐๐ บาท ถึงไร่ละ ๒๕,๐๐๐ บาท
๗๐
-

๓๔
เกินไร่ละ ๓๐,๐๐๐ บาท ให้เสียภาษีไร่ละ ดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับราคาปานกลางของที่ดิน ๓๐,๐๐๐ บาทแรก ให้เสียภาษี ๗๐ บาท
(๒) สำหรับราคาปานกลางของที่ดินส่วนที่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้เสียทุกๆ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อ ๒๕ บาท เศษของ ๑๐,๐๐๐ บาท ถ้าถึง ๕,๐๐๐ บาท ให้ถือเป็น ๑๐,๐๐๐ บาท ถ้าไม่ถึง ๕,๐๐๐ บาท ให้ปัดทิ้ง




หมายเหตุ   (๑) ที่ดินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่
                   (ก) เศษของไร่ให้คิดในอัตราลดลงตามส่วน
                   (ข) เศษของหนึ่งตารางวา ให้ปัดทิ้ง
              (๒) เมื่อคำนวณภาษีแล้ว เศษของ ๑๐ สตางค์ ให้ปัดทิ้ง

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้บัญญัติให้กรมสรรพากรเป็นผู้ควบคุมจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ แต่ให้กันไว้ต่างหากเพื่อใช้จ่ายในการบำรุงท้องที่ในเขตท้องถิ่นนั้นๆ จึงสมควรมอบให้ราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่เสียเอง

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕๖ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

มาตรา ๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นรายงานการตีราคาปานกลางของที่ดิน ตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ สำหรับการตีราคาปานกลางของที่ดินรอบระยะเวลาสี่ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ ในเขตกรุงเทพมหานครออกไปอีกได้ตามความจำเป็นแก่กรณี

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้จัดตั้งกรุงเทพมหานครขึ้นโดยมีการบริหารราชการแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ทำให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่มีข้อขัดข้อง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในเขตกรุงเทพมหานคร

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ พ.ศ. ๒๕๒๔

มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นไป

มาตรา ๑๑ ให้บรรดากฎกระทรวงที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชกำหนดนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษายังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้

มาตรา ๑๒ บรรดาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ นอกจากมาตรา ๔๕ (๔) ให้คงใช้บังคับได้ในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีที่ค้างอยู่หรือพึงชำระก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงอัตราภาษีบำรุงท้องที่ และหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีบำรุงท้องที่ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเนื่องจากเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

พระราชกำหนดเปลี่ยนแปลงราคาปานกลางของที่ดินที่กำหนดไว้สำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ พ.ศ. ๒๕๒๕

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกราคาปานกลางของที่ดินที่คณะกรรมการตีราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้กำหนดไว้สำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๘

มาตรา ๔ ให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยให้ถือราคาที่กำหนดตามมาตรานี้เป็นการตีราคาปานกลางของที่ดินตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘

มาตรา ๕ ให้ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ออกไปจนถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

มาตรา ๖ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ผู้ใดชำระภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ไปแล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เกินจำนวนที่ตนต้องเสีย ให้ผู้นั้นยื่นหลักฐานการชำระภาษีดังกล่าวเพื่อขอรับภาษีส่วนที่เกินคืน ต่อเจ้าพนักงานประเมิน
เมื่อหัวหน้าเขต นายอำเภอ หรือนายกเทศมนตรี แล้วแต่กรณีได้ตรวจสอบหลักฐานว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ชำระภาษีเกินจำนวนที่ตนต้องเสียจริง ให้คืนภาษีส่วนที่เกินภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นคำขอรับภาษีส่วนที่เกินตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ ตามที่ได้มีการกำหนดราคาปานกลางของที่ดินขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้น ปรากฏว่าประชาชนจะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนที่เคยเสียเดิมมาก อันเป็นผลจากวิธีการตีราคาปานกลางของที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ยังไม่เหมาะสมและเป็นธรรมตามสภาพและทำเลของที่ดินในแต่ละแห่ง เมื่อได้คำนึงถึงภาระภาษีที่ประชาชนจะต้องได้รับเพิ่มขึ้นประกอบกับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศโดยทั่วไปในปัจจุบันยังไม่คลี่คลายจึงเห็นสมควรที่จะผ่อนคลายความเดือดร้อนที่ประชาชนจะได้รับจากการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในช่วงระยะเวลานี้เป็นการชั่วคราว โดยกำหนดให้ใช้ราคาปานกลางของที่ดินตามที่คณะกรรมการตีราคาปานกลางของที่ดินได้กำหนดไว้สำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับภาษีปี พ.ศ. ๒๕๒๕ และในปีต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ที่เกี่ยวกับวิธีการตีราคาปานกลางของที่ดินใหม่ให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาตระเตรียมการพอสมควร นอกจากนี้ โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงการคำนวณภาษีบำรุงท้องที่ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาสำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ สำหรับการเสียภาษีปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งได้ผ่านพ้นไปแล้วด้วย และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันเกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๙
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกราคาปานกลางของที่ดินที่คณะกรรมการตีราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้กำหนดไว้สำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๒

มาตรา ๗ ให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ มาใช้เป็นราคาปานกลางในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และให้คณะกรรมการพิจารณาตีราคาปานกลางของที่ดินขึ้นใหม่สำหรับรอบระยะเวลาสี่ปีต่อไป ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐

มาตรา ๘ แบบแสดงรายการที่ดินที่ได้ยื่นไว้แล้วและใช้ได้สำหรับการเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้ถือว่าเป็นแบบแสดงรายการที่ดินที่ได้ยื่นไว้แล้วและใช้ได้สำหรับการเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ด้วย

มาตรา ๙ ผู้ที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ไปแล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับเกินจำนวนที่ตนต้องเสีย ให้มีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เกินคืน
การคืนเงินส่วนที่เกินให้เป็นไปตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ และให้คืนเงินดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นคำขอรับเงินส่วนที่เกินคืน

มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่เอื้ออำนวยที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงภาษีบำรุงท้องที่ในลักษณะที่จะทำให้ประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น จึงสมควรให้นำเอาราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ไปก่อน และให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ชำระภาษีดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดสามารถขอผ่อนชำระเป็นงวดๆ ได้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ประกอบกับวิธีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ยังไม่สะดวกเท่าที่ควรและอัตราเงินเพิ่มภาษีบำรุงท้องที่ยังไม่เหมาะสม สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้มีองค์การบริหารส่วนตำบลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้ครอบคลุมถึงการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล นอกจากนี้โดยที่ถ้อยคำเกี่ยวกับราชการส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่มีใช้อยู่หลายคำตามรูปแบบของราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอยู่หลากหลาย สมควรปรับปรุงถ้อยคำดังกล่าวเพื่อให้ครอบคลุมถึงราชการส่วนท้องถิ่นทุกประเภท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น